การมองเห็นของคนสายตาปกติ เกิดขึ้นเมื่อแสงจากวัตถุวิ่งผ่านกระจกตาและเลนส์ตาไปตกพอดีบนจอประสาทตา จากนั้นจอประสาทตาจะส่งภาพซึ่งอยู่ในรูปของคลื่นไฟฟ้าไปยังสมอง เพื่อแปลเป็นภาพที่เราเห็น ซึ่งหากภาพที่ชัดเจนตกบนจอประสาทตาพอดี เราจะเห็นภาพนั้นได้คมชัด ถ้ากำลังการรวมแสงของตาไม่ตกพอดีที่จอประสาทตา จะทำให้เกิดภาวะสายตาผิดปกติ ซึ่งแยกได้ดังนี้
สายตาสั้น (Nearsightedness หรือ Myopia) เกิดจากการที่กระจกตาโค้งเกินไป หรือขนาดลูกตายาวเกินไป ทำให้กำลังการรวมแสงของตามากเกินไป เมื่อเทียบกับความยาวของลูกตา จนทำให้แสงจากวัตถุไปโฟกัสก่อนถึงจอประสาทตา ทำให้การมองเห็นภาพในที่ไกลไม่ชัด
สายตายาโดยกำเนิด (Farsightedness หรือ Hyperopia) เกิดจากการที่กระจกตาแบนเกินไป หรือขนาดของลูกตาสั้นเกินไป ส่งผลให้กำลังการรวมแสงน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับความยาวของลูกตา ทำให้จุดโฟกัสแสงจากวัตถุไปตกเลยจอประสาทตา ทำให้การมองเห็นภาพไม่ชัดทั้งใกล้และไกล
สายตาเอียง (Astigmatism) เกิด จากการที่กระจกตามีความโค้งไม่เท่ากันในแต่ละแนวทำให้กำลังการรวมแสงของตาใน แนวต่างๆ ไม่เท่ากัน จุดโฟกัสในแต่ละแนวจึงไม่เป็นจุดเดียวกัน ทำให้มองเห็นภาพซ้อน จึงมองไม่ชัดทั้งใกล้และไกล
สายตายาวตามอายุ (Presbyopia) ภาวะนี้มักเกิดขึ้นกับผู้ทีมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป โดยปกติในคนอายุน้อยเลนส์ตาสามารถปรับเปลี่ยนจุดโฟกัสแสงให้ตกที่จอประสาทตา พอดีทั้งในการมองระยะใกล้และไกล ทำให้สามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจน แต่เมื่ออายุมากขึ้นความสามารถของเลนส์ตาในการปรับเปลี่ยนโฟกัสก็จะลดลง ทำให้ต้องใส่แว่นที่มีกำลังเป็นบวก หรือเลนส์สายตายาวช่วยในการอ่านหนังสือ
การแก้ไขภาวะสายตาที่ผิดปกติ หลักการแก้ไขภาวะสายตาที่ผิดปกติ คือ ต้องทำการปรับกำลังในการหักเหแสงทั้งหมดให้พอดีกับความยาวของลูกตา ซึ่งอาจทำได้หลายวิธีได้แก่
- แว่นตา (Spectacles) โดยเลนส์ของแว่นตาจะช่วยในการรวมกำลังแสงให้ตกลงบนจอรับภาพพอดี เป็นวิธีการที่มีความปลอดภัยสูง ง่ายต่อการดูแลรักษา อีกทั้งมีรูปแบบให้เลือกหลากหลายสไตล์ สามารถเปลี่ยนได้บ่อยตามใจชอบ แต่มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ความไม่สะดวกในการเล่นกีฬา การประกอบอาชีพบางอย่าง และกรณีสายตาสองข้างมีความแตกต่างกันมาก ทำให้ไม่สามารถใส่แว่นตาได้
- เลนส์สัมผัส หรือคอนแทคเลนส์ (Contact Lens) เป็น อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่มีสายตาผิดปกติ และไม่สะดวกที่จะใส่แวนตา หรือนักกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ช่วยให้มองภาพในมุมกว้างได้ดี และเหมาะสมในรายที่สายตาทั้งสองข้างมีความแตกต่างกันมาก แต่จะมีข้อควรระวังในเรื่องการดูแลรักษาความสะอาด เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระจกตาติดเชื้อ ซึ่งอาจรุนแรงจนสูญเสียตาได้ และในบางรายก็ไม่เหมาะสมกับการใช้เลนส์สัมผัส เช่น มีภาวะตาแห้ง ภูมิแพ้คราบโปรตีนที่สะสมในเลนส์ และในน้ำยาล้างเลนส์ ไม่แนะนำให้ใส่เลนส์สัมผัสในขณะที่ทำกิจกรรมกีฬา และสันทนาการบางประเภท เช่น ว่ายน้ำ ดำน้ำ และไม่ควรใส่เลนส์สัมผัสนอน การใช้เลนส์สัมผัสควรได้รับการตรวจและแนะนำจากจักษุแพทย์
การผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ (refractive surgery) มีหลายวิธี แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบันได้แก่
- การ ผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติโดยใช้เลเซอร์ (Excimer Laser) มี 2 วิธีคือ PRK (Photorefractive Keratectomy) และ LASIK (Laser In-Situ-Keratomileusis) เป็นวิธีแก้ไขสายตาที่ถาวร โดยการเปลี่ยนความโค้งกระจกตา วิธี PRK นั้นเป็นวิธีที่ใช้เลเซอร์ขัดผิวกระจกตาโดยตรง ส่วน LASIK นั้น จะมีการใช้เครื่องมือแยกชั้นกระจกตา ฝานกระจกตาเป็นฝาเปิด แล้วขัดผิวกระจกตาด้านล่างด้วยเลเซอร์ จากนั้นจึงปิดฝากระจกตาตามเดิม รอแผลสมาน 3-5 นาที ทั้งสองวิธีสามารถแก้ไขสายตาสั้น ยาว เอียง ในกรณีสายตาสั้น เลเซอร์จะขัดผิวกระจกตาตรงกลาง ทำให้กระจกตาตรงกลางแบนลง ส่วนสายตายาว เลเซอร์จะขัดผิวเป็นวง บริเวณขอบกระจกตา ทำให้กระจกตาตรงกลางโค้งนูนขึ้น
- การ ผ่าตัดโดยฝังเลนส์เสริม (Phakic Intraocular Leans) เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เหมาะสำหรับ ผู้ที่มีสายตาผิดปกติมากๆ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วย LASIK เนื่องจากจะทำให้กระจกตาบางลงมาก จนขาดความแข็งแรง หรือในรายที่กระจกตาบางมาก รายที่มีภาวะตาแห้ง เลนส์นั้นได้รับการออกแบบมาเพื่อนำไปใส่ในลูกตาแบบถาวร โดยสามารถเอาเลนส์ออกได้หากไม่ต้องการ และไม่ต้องเอาเลนส์ธรรมชาติออกจากตา โดยจักษุแพทย์จะตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดก่อนการผ่าตัดฝังเลนส์เสริม
เลนส์เสริมที่นิยมใช้ในประเทศไทยมี 2 ลักษณะคือ
- เลนส์เสริมที่ใส่ในตำแหน่งด้านหน้ารูม่านตา โดยมีก้ามยึดติดกับม่านตา
- เลนส์เสริมที่ใส่ในตำแหน่งด้านหลังรูม่านตา โดยฝังลอยระหว่างม่านตาและเลนส์แก้วตาปกติ
วิธีการรักษาสายตายาวตามอายุ (Prebyopia) ปัจจุบันได้มีการรักษาที่เรียกว่า CK (Conductive Keratoplasty) เป็นการรักษาสายตายาว โดยใช้คลื่นวิทยุ ซึ่งจะถูกส่งผ่านไปยังเนื้อเยื่อบริเวณขอบกระจกตา ทำให้เกิดการกดตัวของเส้นใยคอลลาเจน ทำให้กระจกตาโค้งนูนขึ้น ผลที่ได้จะทำให้การดูระยะใกล้ชัดขึ้น แต่ความชัดเจนของการมองไกลจะลดน้อยลง โดยปกติจะทำเพียงข้างเดียวเพื่อมองใกล้ และอีกข้างไว้เพื่อมองไกลชัดเต็มที่
|