คำถามที่พบบ่อย
Q :
เตรียมตัวอย่างไรก่อนพบแพทย์ครั้งต่อไป
A :
- ผู้รับบริการควรมาถึงก่อนนัดประมาณ 15-30 นาที
- อาจบันทึกปัญหาหรืออาการความทุกข์ที่มีอยู่และเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงคำถามที่สงสัยเพื่อแพทย์จะได้รับข้อมูลครบถ้วนและตอบข้อสงสัยของท่านได้
- นำการบ้านหรือการทดลองที่แพทย์แนะนำให้ท่านทำหลังจากการรักษาครั้งก่อนหน้ามา เพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
- นำยาที่ได้จากคลินิกครั้งก่อนหรือนำยาทั้งหมดที่ท่านใช้อยู่มาด้วย เพื่อจะได้ตรวจสอบผลการรักษาและผลข้างเคียงอย่างถูกต้อง
Q :
ต้อกระจกถ้าทิ้งไว้นานจะทำให้ตาบอดได้หรือไม่?
A :
- ต้อกระจกถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขอันดับหนึ่งของประเทศไทยที่สูญเสียการมองเห็นระดับรุนแรง ผู้ป่วยจะตามัวลงเรื่อยๆ จนเกิดอาการต้อหินแทรกซ้อนได้ จึงไม่ควรทิ้งไว้จนต้อกระจกแข็งหรือสุก
Q :
เมื่อรักษาต้อกระจกแล้วจะกลับมาเป็นอีกหรือไม่
A :
- เมื่อรักษาด้วยวิธีผ่าตัดหรือสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงแล้ว โรคต้อกระจกจะไม่กลับมาเป็นอีก
Q :
เตรียมตัวอย่างไรก่อนไปตรวจตา ??
A :
- การตรวจตาทุกครั้ง จะมีการตรวจการวัดค่าสายตาและวัดความดันตาก่อนเข้าพบหมอตาทุกครั้ง เพราะเป็นตัวช่วยประกอบการวินิจฉัยและรักษาที่สำคัญ ***ไม่ควรปฏิเสธการวัดดังกล่าว ปล. เวลาที่ให้วัดค่าสายตาก่อนเข้าตรวจ หากใช้แว่นในการมองไกลควรใส่แว่นในการอ่านตัวเลขด้วย แต่ไม่ควรเอาแว่นอ่านหนังสือมาใส่เวลาวัดค่าสายตามองไกล ????หากมีโรคประจำตัวหรือผลการตรวจตาจากที่อื่น โรงพยาบาลอื่น รวมถึงยาชนิดต่างๆทั้งยาหยอดและยารับประทานที่ได้รับมา ควรนำมาด้วยทั้งหมดเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการตรวจเครื่องมือพิเศษและการใช้ยาชนิดเดิม โดยอาจถ่ายรูปหรือจดชื่อยามาก็ได้ค่ะ และเพื่อความต่อเนื่องในการรักษา
Q :
น้ำตาไหล ซึมเอ่อ คลอ ตลอด เกิดจากอะไรได้บ้าง ?
A :
- คำตอบนี้ คือ รูเปิดท่อน้ำตาตีบ (Punctum Stenosis) รูระบายท่อน้ำตาที่หัวตานี้ ก็เปรียบเหมือน รูระบายน้ำที่อยู่ก้นอ่างล้างมือค่ะ ถ้ามีการอุดตันที่รูนี้น้ำตาก็จะเอ่อไหลได้สาเหตุ ของรูที่ตีบ อาจเกิดจากเยื่อบุตาอักเสบรุนแรง เปลือกตาอักเสบเรื้อรัง หรือการใช้ยากลุ่มยาต้อหิน ต่อเนื่องนานๆ เป็นต้น การรักษา แยงถ่างขยายรูเปิดของท่อน้ำตา
Q :
ผ่าต้อกระจกใช้เวลานานมั๊ย ?
A :
- ปกติทั่วไปเวลานับจากเริ่มเปิดตาคนไข้บนเตียงผ่าตัดจนปิดตาประมาณ 10 -30 นาที (ต้อแผลเล็กใส่เลนส์พับ ) ในระหว่างผ่าตัด ทาน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ล้างตา คลุมผ้าโผล่มาแค่ตาข้างเดียวเพื่อปลอดเชื้อ (คนไข้หัดนอนราบคลุมโปงมานะคะ) จากนั้นใส่เครื่องมือช่วยเปิดเปลือกตาค้างไว้ แล้วหมอเริ่มการผ่าตัด
Q :
ยาหยอดตา อยู่ใน ตู้เย็นใช้ได้ทั้งปี ไม่เสียใช่มั๊ย ?
A :
- ยาหยอดตา หากยังไม่เปิดบรรจุภัณฑ์ หมดอายุตามข้างกล่องหรือ ขวดที่แจ้ง
- แต่หากเปิดแล้ว ทั่วๆไป แบบขวด ควรทิ้งภายใน 1 เดือน นับจากเปิด
- แบบกระเปาะ 12-24 ชม ไม่เกินนั้น
- แบบขวดปั๊มพิเศษ หรือ บรรจุภัณฑ์พิเศษ อาจจะได้ 3-6 เดือน แล้วแต่ชนิด ปรึกษาจักษุแพทย์ หรือ เภสัชกรอีกที
- แต่ความเชื่อของผู้ใหญ่สมัยก่อน เข้าใจว่า เก็บในตู้เย็นไม่เป็นไร ใช้ได้นานนนนนนนนน หลายเดือนก็มี อันนี้อาจจะไม่ปลอดภัย มีความเสี่ยงของสิ่งปนเปื้อนและเชื้อโรคได้
Q :
หมอตาที่ดูแลยังแบ่งเป็นสาขาย่อยๆได้หลายสาขาเลยนะคะ
A :
- หมอจอตา Retina Specialist คือหมอที่ดูแลกลุ่มเบาหวานขึ้นตา หรือโรคจอตาเสื่อม จอตาหลุดลอก,เส้นเลือดจอตาผิดปกติ เป็นต้น
- หมอเปลือกตา เบ้าตา และท่อน้ำตา Oculoplastic หรือ Ophthalmic Plastic and Reconstructive Surgery (OPRC) ดูแลอวัยวะต่างๆรอบดวงตา รักษาหนังตาตก หนังตาหย่อน ท่อน้ำตาตัน ท่อน้ำตาขาด เบ้าตาแตก เนื้องอกเบ้าตา ตาโปนจากโรคธัยรอยด์เป็นต้น แล้วแต่ใครจบมาจะถนัดทำอะไร ออกไปทางการเสริมความงาม หรือ กลุ่มรักษาโรค หรือ กลุ่มที่ดูแลเคสที่อุบัติเหตุมาเบ้าตาแตก ท่อน้ำตาขาด เป็นต้น.
- หมอต้อหิน Glaucoma Specialist ดูแลด้านต้อหินโดยเฉพาะ โรคที่ขั้วประสาทตาผิดปกติ มุมมองการมองเห็นหรือที่เรียกว่าลานสายตาแคบลง ความดันตาอาจจะปกติหรือสูงก็ได้
- หมอตาเด็ก Pediatric Ophthalmology คือหมอตาที่เน้นดูแลโรคตาในเด็ก ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะเน้นดูด้านโรคตาเด็ก เช่น จอตาผิดปกติจากการคลอดก่อนกำหนด ( คาบเกี่ยวกับหมอจอตา) หรือ เน้นด้านกล้ามเนื้อตา รักษาตาเข ตาเหล่ ตาขี้เกียจ และหมอ กลุ่มนี้มักวัดแว่นเด็กๆเก่งกว่าหมอตาสาขาอื่นค่ะ
- หมอเส้นประสาทตา (Neuro Oph) ดูแลเรื่องการมองเห็นที่ผิดปกติไปที่สาเหตุมาจากเส้นประสาทตา หรือสมอง หมอกลุ่มนี้หลายท่านผ่าตัดแก้ตาเข ด้วยค่ะ
- หมอตาอักเสบ Uveitis ดูแลเคสที่มีการอักเสบในช่องลูกตา และน้ำวุ้นตา ซึ่งกลุ่มนี้มักมีความสัมพันธ์กับโรคทางกาย เช่น Rheumatoid เป็นต้น
- หมอ สายตาเลือนราง Low vision จะดูแลในกรณีผู้ป่วยที่มีสายตาเลือนราง มองไม่ชัดมากๆและรักษาวิธีใดๆให้เห็นชัดขึ้นมากไม่ได้ คุณหมอกลุ่มนี้จะมีการเลือกอุปกรณ์เสริมช่วยการมองเห็นชนิดต่างๆให้กับผู้ป่วยแต่ละโรค แต่ละรายค่ะ
- ต้อกระจก, ต้อเนื้อ และ ต้อลม หมอตาทุกคนดูแลได้ค่ะ อาจไม่จำเป็นต้องเลือกสาขาเฉพาะ และเอาจริงๆแล้ว หมอตาทุกท่านที่จบมาก็สามารถดูแลรักษาโรคต่างเบื้องต้นได้ในแทบทุกโรคค่ะ ยกเว้นรายที่มีอาการมาก หรือ โรคดำเนินไปมาก หรือ ยาก ก็ ต้องพึ่งหมอสาขาย่อยที่เชี่ยวชาญด้านนั้นเป็นพิเศษค่ะ