ประวัติโรงพยาบาล

สืบเนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ณ วัดไร่ขิง อำเภอ สามพราน จังหวัดนครปฐม ได้มีพระราชดำรัส สรุปความว่า “คนไร่ขิงมีใจกว้าง สามารถสร้างโรงเรียนใหญ่ๆ แต่ในท้องถิ่นเป็นบริเวณ ที่มีน้ำเสียซึ่งจะมี ผลกระทบต่อสุขภาพของนักเรียน ทางวัดน่าจะสร้างสถานพักฟื้นสัก ๔ – ๕ เตียง” จากพระราชดำรัสดังกล่าว

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง จึงได้ดำเนินการตามพระราชประสงค์โดยจัดสร้าง โรงพยาบาลขนาด ๔๐๐ เตียง โดยใช้เงินบริจาคจากศรัทธาของประชาชน รวมที่ดินและสิ่งก่อสร้างตลอดจนวัสดุครุภัณฑ์เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๙๕,๗๗๘,๔๙๔ บาท (เก้าสิบห้าล้านเจ็ดแสนเจ็ดหมื่นแปดพันสี่ร้อยเก้าสิบสี่ล้านบาทถ้วน)

เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ เวลา ๑๐.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ประกอบพิธีเปิดที่ทำการ “ศูนย์พัฒนาการควบคุมโรคไม่ติดต่อ” โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) และได้เปิดบริการผู้ป่วยอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ ปีพ.ศ. ๒๕๓๒ เป็นต้นมา

กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ กรมการแพทย์ ดำเนินการตามพระราชประสงค์ โดยกำหนดให้เป็น“ศูนย์พัฒนาการควบคุมโรคไม่ติดต่อ”โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) รับผิดชอบในการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ

พระราชกิจจานุเบกษา (ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ ๓ วันที่ ๙ ต.ค. ๒๕๔๕) กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการแพทย์ กำหนดโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ให้เป็นโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านจักษุวิทยา เพื่อก้าวสู่สถาบันจักษุวิทยาแห่งชาติในอนาคต