วิวัฒนาการการรักษาต้อกระจก

  • พิมพ์

 เขียนโดย : นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์

20120703-3

ที่ผ่านมาการรักษาต้อกระจกมีเพียงวิธีเดียวเท่านั้น คือ การผ่าตัดเอาต้อกระจกออก การใช้ยาหยอดตา และการกินยาที่ไม่สามารถป้องกันหรือรักษาให้อาการต้อกระจกหายได้ เพราะต้อกระจกเป็นการเปลี่ยนภายในแก้วตา ไม่ใช่เป็นเยื่อบางๆ หรือเนื้องอกหุ้มที่แก้วตา จึงไม่สามารถล้างออกหรือใช้เข็มเขี่ยออกได้

เมื่อผ่าตัดเอาต้อกระจกออกไปแล้วจะทำให้แสงสามารถผ่านเข้าไปในตาได้ตามปกติ เพียงแต่ผู้ป่วยจะไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนเหมือนคนปกติเนื่องจากไม่มีแก้วตา

วิธีการหนึ่งที่จะช่วยผู้ป่วยมองเห็นได้อย่างชัดเจนและปลอดภัยหลังการผ่าตัด ก็คือ การใช้แว่นตาต้อกระจกที่ทำด้วยเลนส์นูน เพื่อทำการหักเหแสงแทนเลนส์แก้วตาธรรมชาติที่ถูกผ่าตัดออกไป

 

แว่นตา ต้อกระจกที่ทำด้วยเลนส์นูนนี้มีราคาถูก แต่ก็มีข้อเสีย คือ จะทำให้ภาพที่มองเห็นใหญ่กว่าของจริง และถ้ามองด้านข้างก็จะมองเห็นได้ไม่ชัด สำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดต้อกระจกข้างเดียว และตาอีกข้างหนึ่งยังดีอยู่จะใช้แว่นตาเพียงข้างเดียว เพราะถ้าใช้ 2 ตาพร้อมกันจะเกิดปัญหาในการมองเห็น คือ ทำให้เห็นภาพเป็น 2 ชั้น ซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

วิธีต่อมาที่พัฒนามาจากการใส่แว่นตา เลนส์นูนและวิธีเป็นที่นิยมทำกันมากตามโรงพยาบาลในปัจจุบัน คือ การผ่าตัดแบบเย็บแผล โดยการใส่เลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งทำจากสารพวกพลาสติกแข็งที่ไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านจากร่างกายเข้าไปเพื่อ ทำหน้าที่แทนแก้วตาธรรมชาติที่เกิดต้อกระจก เลนส์แก้วตาเทียมที่ใส่เข้าไปนี้จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใส่แว่นตาที่ทำด้วย เลนส์นูนอีกต่อไป การใส่เลนส์แก้วตาเทียมนี้ใช้ได้กับผู้ป่วยทุกรายที่ไม่มีข้อห้ามและผู้ป่วย ที่ไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะการใช้เลนส์แก้วตาเทียมเป็นวิธีการแก้ไขสายตายาวหลังการผ่าตัดต้อกระจก ได้ดีที่สุด ทั้งยังให้ความสะดวกสบายกว่ามาก เพราะเป็นการใส่แบบถาวรโดยไม่ต้องเปลี่ยนและไม่ต้องดูแลรักษา เพียงแต่ต้องระวังเรื่องแผลผ่าตัดสักระยะหนึ่ง ควรหมั่นเช็ดตาและหยอดตาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

ส่วนในผู้ป่วย ที่สายตาสั้นมากๆ หรือพวกที่เคยผ่าตัดแบบไม่ใส่เลนส์เทียมไปแล้วข้างหนึ่ง ก็จะไม่ใส่เลนส์แก้วตาเทียมในอีกข้างหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้สายตาสามารถใส่แว่นตาได้ทั้ง 2 ข้าง ปัจจุบันวิวัฒนาการของการผ่าตัดต้อกระจกได้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง คือ ได้พัฒนามาเป็นการผ่าตัดต้อกระจกโดยไม่ต้องเป็นแผล หรือที่เรียกว่า “เฟโคอีมัลซิฟิเคชั่น” การผ่าตัดต้อกระจกแบบใหม่นี้ เป็นการนำคลื่นเสียงความถี่สูงอัลตราซาวนด์มาใช้ในการสลายต้อกระจกแล้วดูด ออกมา จากนั้นจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทน ในปัจจุบันวิธีการดังกล่าวเป็นที่นิยมกันมากในต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยยังไม่ค่อยแพร่หลายเท่าไรนัก ทั้งนี้เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องค่าใช้จ่ายของเครื่องมือซึ่งมีราคาแพง และความชำนาญของจักษุแพทย์ที่จะต้องใช้เวลาฝึกฝนเป็นกรณีพิเศษ แต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาได้มีโรงพยาบาลหลายแห่งพยายามที่จะนำวิธีการดังกล่าวมาใช้ แต่เพราะข้อจำกัดดังกล่าวทำให้โรงพยาบาลยางแห่งต้องล้มเลิกไป เท่าที่ทราบว่ายังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันมี 2-3 แห่ง ทั้งโรงพยาบาลของรัฐฯและเอกชน

ในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วย วิธีใหม่นี้ แม้จะสูงกว่าการรักษาแบบเก่า แต่เนื่องจากผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาลและไม่ต้องใช้ไหมเย็บแผล ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงได้ และเมื่อเทียบกันแล้ว ค่าใช้จ่ายในการรักษาแบบใหม่จึงสูงกว่าวิธีเก่าประมาณร้อยละ 30-40 ผู้ป่วยบางคนอาจสงสัยว่า การผ่าตัดจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งในความจริงแล้วการผ่าตัดต้อกระจกเป็นการผ่าตัดตาที่จักษุแพทย์ทำกัน อย่างคุ้นเคยมาก เหมือนกับการที่ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัดไส้ติ่ง โรคแทรกซ้อนหลังผ่าตัดก็อาจมีได้แต่น้อย ที่ต้องระวังมากที่สุด ก็คือ เรื่องการติดเชื่อ ต้อหิน เลือดออกในลูกตา จอประสาทตาลอกหรือบวม ซึ่งไม่พบบ่อยนัก

สิ่งหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ภายหลังจากการผ่าตัดเป็น เวลานาน คือ ถุงเยื่อหุ้มหลังเลนส์ขุ่น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตามัวได้อีก แต่ในครั้งนี้จะไม่รักษาด้วยการผ่าตัด แต่จะใช้แสงเลเซอร์ยิงเจาะเยื่อหุ้มเลนส์ที่ขุ่น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยกลับมองเห็นได้อย่างชัดเจนโดยจะไม่มัวลงอีก